การหาแหล่งทุน เรื่องเงินๆ ทองๆ ที่ควรรู้

Nanosoft Article : บทความทางธุรกิจ

มีผู้ประกอบการท่านหนึ่งเคยบอกผมว่า “เรื่องเงินไม่ใช่เรื่องใหญ่ เรื่องไม่มีเงินถึงจะเป็นเรื่องใหญ่” ซึ่งก็น่าจะเป็นสัจจธรรมข้อหนึ่งในการทำธุรกิจ ผมเชื่อว่ามี SMEs ที่มีปัญหาทั้งในด้านการหาเงินและการบริหารเงินอยู่ไม่น้อย เริ่มตั้งแต่ช่วงที่คิดและมีความใฝ่ฝัน จะเป็นเถ้าแก่ แต่ขาดเรื่องเงินลงทุนเริ่มต้น ไม่รู้ว่าจะหาเงินมาจากไหน จะว่าไปแล้วเงินลงทุนสำหรับการเริ่มต้นธุรกิจขนาดเล็กมาจากแหล่งต่าง ๆ ได้ดังนี้


1. เงินเก็บ-เงินสะสมของครอบครัวผู้ประกอบการ
ถ้าเริ่มต้นจากตรงนี้ก็ได้ง่าย ไม่ต้องง้อใคร อยากทำธุรกิจอะไร ต้องซื้อ-เช่าตึกแถว อุปกรณ์สินค้า ตกแต่งร้านหรือจ้างพนักงานก็ทำได้ตามกำลังเงิน ของตัวเองที่มีอยู่ ถ้ามั่นใจว่าเราทำธุรกิจได้ดี เห็นโอกาสทางการตลาด คิดว่าไม่เจ๊งก็ลุยได้เลยผมถือว่าคนที่มีความคิดจะมีธุรกิจเป็นของตัวเองควรต้องมีเงินทุนจากเงินเก็บ ของตนเองหรือครอบครัวอยู่ระดับหนึ่ง ถ้าไม่พอค่อยหาจากแหล่งอื่น ๆ ที่จะพูดต่อไป ถ้าทุนเริ่มต้นน้อยก็ยังไม่คิดการใหญ่ ทำธุรกิจเล็ก ๆ ใช้เงินทุนน้อย ๆ ก่อน ถ้าดีก็ค่อยกู้เงินมาขยายกิจการ ถ้าล้มเหลวก็เจ็บตัวไม่มากแค่เงินเก็บหมด ไม่ถึงขนาดต้องเป็นหนี้ แต่ถ้าคิดจะจับเสือมือเปล่าโดยหาแหล่งทุนจากภายนอกล้วน ๆ ไม่ลงเงินเองเลย ก็ต้องมีความสามารถเฉพาะตัวเป็นทุนเดิม เช่น เป็นพ่อครัวแม่ครัวที่มีฝีมือแล้วหาพรรคพวกมาลงทุนเปิดร้านอาหารให้ เราเป็นคนดูแลในครัวเป็นแบบหุ้นลมไม่ลงเงินแต่ลงแรงก็พอ จะคบกันไปได้แต่มาแบบไอเดียล้วย ๆ จะไปขอเงินชาวบ้านมาลงทุนก็ยากหน่อย

2. เงินจากเพื่อนฝูง – ญาติพี่น้อง
กรณีไม่มีเงินเก็บหรือมีแล้วแต่ยังไม่พอที่พึ่งที่ดีที่สุดของเถ้าแก่หน้าใหม่ คือ เพื่อนฝูงและญาติพี่น้องซึ่งงานนี้จะได้หรือไม่ มากน้อยแค่ไหนก็แล้วแต่กรรม ของแต่ละคนจริง ๆ เถ้าแก่หลายคนที่ผมรู้จักและทำธุรกิจประสบความสำเร็จก็ได้เงินทุนเริ่มต้นมาจากภรรยา พ่อตา พี่ คุณตาคุณยาย ถ้าโชคดีทำบุญมามาก มีญาติพี่น้องรวยหรือภรรยารวยก็ไม่ต้องหันไปพึ่งธนาคารหรอกครับ หาญาติผู้ใหญ่ ขอยืมเงินมาลงทุนหรือชวนเขามาเข้าหุ้นกับเราได้เลย ดอกเบี้ยอาจไม่ต้องเสียหรือ เสียต่ำกว่าธนาคาร แถมยังมีระยะปลอดหนี้ยาวนานกว่าด้วย

3. จากสถานบันการเงิน
ซึ่งแหล่งทุนปัจจุบันไม่ว่า SMEs Bank , ธนาคารกรุงไทย , ธนาคารออมสินและธนาคารไทยพาณิชย์เกือบทุกแห่งต่างสนใจปล่อนสินเชื่อ SMEs กันทั้งนั้น เพื่อระบายเงินฝากที่ล้นธนาคาร แต่แน่นอนครับการเอาเงินของผู้ฝากมาปล่อยกู้ ธนาคารก็ต้องการหลักประกันที่แน่ใจว่าจะได้รับเงินต้นและดอกเบี้ยคืน เขาต้องขอหลักทรัพย์ค้ำประกัน เช่น บ้าน ที่ดิน หรือบุคคลที่น่าเชื่อถือ ซึ่งขั้นตอนต่าง ๆ ก็ไม่ยุ่งยากนักถ้าเรามีหลักทรัพย์หรือบุคคลที่น่าเชื่อถือมาค้ำประกันเกินกว่าวงเงินกู้ แต่ SMEs ที่บ่นว่ากู้ธนาคารลำบาก วุ่นวาย ส่วนหนึ่งเพราะหลักฐานไม่ครบหรือขาดหลักทรัพย์ค้ำประกันมากกว่าก็เราไปกู้เงินเขานี่ครับ เขาไม่รู้จักเราต้องรอบคอบหน่อย ตรวจเอกสารนานหน่อย ลองคิดดูว่าขนาดญาติพี่น้องหรือเพื่อนฝูงที่เรารู้จัก เขายังไม่ให้ยืมเลย และธนาคารไม่รู้จักเราเลยจะปล่อยกู้ง่าย ๆ แบบถอนเงินฝากได้อย่างไร

4. จากผู้ผลิตหรือผู้ขายสินค้า
ในกลุ่ม SMEs สายค้าส่งค้าปลีกหรือสายการผลิต เราต้องขอเครดิตจากผู้ขายสินค้ามาให้เราได้ เช่น ในการเปิดร้านค้าปลีก ผู้ค้าส่งบางรายจะยอมให้เรา สั่งสินค้ามาขายก่อนโดยยังไม่ต้องจ่ายเงิน นาน 1-2 เดือนถ้าเราวางแผนบริหารสินหมุนเวียนดี ๆ ไม่สั่งของมาเก็บมาเกินไปแล้วเร่งขายให้ได้ก่อนถึงกำหนดชำระเงิน เราก็จะได้เงินสดมาหมุนเวียนในกิจการแต่ต้องระวังอย่าหมุนเพลินจนเมื่อถึงกำหนดชำระสินค้าแล้วไม่มีเงินมาจ่ายกลายเป็นเสียเครดิตในการทำธุรกิจจนไม่อยากมีใครขายของให้หรือ ถ้าขายก็ขอเป็นเงินสด งดรับเช็ค

5. จากบัตรเครดิต
จะว่าไปแล้วบัตรเครดิตถ้านำมาใช้ให้เป็นก็จะเป็นแหล่งเงินสำหรับหมุนเวียนในการทำธุรกิจที่ดีทีเดียว เช่น ในการสั่งสินค้ามาขาย ถ้าเราชำระเป็นบัตรเครดิต เราจะยืดระยะเวลาชำระเงินไปได้อีก 30 - 55 วัน ขึ้นอยู่กับระยะเวลาที่บัตรนั้น ๆ ให้ระหว่างนั้นเราขายสินค้าได้เราก็มีเงินมากชำระบัตรเครดิตไม่ต้องเสียค่าดอกเบี้ย ถ้าวงเงินไม่พอ ก็ทำบัตรหลาย ๆ ใบ เอาวงเงินรวมกันได้มากพอสมควร ยุคนี้ธนาคารก็เร่งขยายตลาดบัตรเครดิตการขอทำบัตรก็ไม่ยากนักแถมยังได้สะสมแต้มแลกของรางวัลอีก

แนวทางนี้เป็นแหล่งเงินที่เบิกง่ายใช้คล่อง ถ้าบริษัทที่เราซื้อเขาไม่รับบัตรเครดิต ร้านก็จะรับรูดบัตรจากเขาได้รับเงินจากธนาคารเลย ไม่ต้องห่วงเรื่อง เช็คเด้ง แต่ก็โดนหักค่าธรรมเนียมประมาณ 1-5 % แล้วแต่บัตรและประเภทธุรกิจ ถ้าเรายอมจ่ายค่าธรรมเนียมแทนเขาบางส่วนอาจทำให้ผู้ขายยอมรับชำระด้วยบัตรเครดิตก็ได้

สามข้อแรกที่ไห้ไว้เป็นแหล่งเงินทุนที่เบิกมาใช้ได้ทั้งช่วงเริ่มต้นธุรกิจและใช้ยามฉุกเฉิน แต่ สองข้อหลังสำหรับใช้หมุนเวียนในการทำธุรกิจ เหล่านี้น่าจะช่วย SMEs ให้มีเงินลงทุนเป็นแหล่งทุนหมุนเวียนฉุกเฉินได้บ้างใครสนใจแหล่งไหนก็ลองใช้ได้ตามความถนัดและโอกาสของตัวเองนะครับ

** คัดลอกบางส่วนมาจากหนังสือ " Small but work " โดย รศ.วิทวัส รุ่งเรืองผล ISBN 974-8254-93-3