สีกับตราสินค้า

Nanosoft Article : บทความทางธุรกิจ

สมองของมนุษย์ มีความพิเศษในการแยกแยะสี ซึ่งมาจากการที่แสงไปตกกระทบสิ่งต่างๆ แล้วเกิดการสะท้อนเข้าสู่ตาเรา และผ่านเข้ามาในลูกตา ไปทำให้เกิดภาพบนจอ (Retina) ที่อยู่ด้านหลังของลูกตา ข้อมูลของวัตถุที่มองเห็นจะส่งขึ้นไปสู่สมองตามเส้นประสาท (optic nerve) สมองจะแปลข้อมูลเป็นภาพของวัตถุนั้น สี มีอิทธิพลต่ออารมณ์ ความรู้สึก ทัศนคติ ความคิดของคนทั่วไป การเลือกใช้สีใดสีหนึ่งเพื่อแสดงตัวตนจึงเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนและควรให้ความใส่ใจเป็นอย่างสูง

ในการออกแบบตราสินค้าควรที่จะคิดถึงเรื่องของภาพลักษณ์ที่ปรากฏต่อสายตาของผู้อื่น รวมทั้งความเป็นอัตลักษณ์ขององค์กรนั้นๆ โดยอาศัยองค์ประกอบกราฟิก ซึ่งประกอบด้วย ชื่อ ตัวอักษร เครื่องหมาย ข้อความประกอบ ซึ่งองค์ประกอบเหล่านี้เรียกว่า องค์ประกอบพื้นฐานในการสร้างตราสินค้า โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ชื่อตราสินค้าและตราสัญลักษณ์ นับเป็นสิ่งที่มีความสำคัญเป็นอันดับแรกๆเลยก็ว่าได้ ซึ่งตราสินค้าจะมีเรื่องของสีเข้ามาเกี่ยวข้อง ซึ่ง สี สามารถที่จะบ่งบอกหรือสร้างความแตกต่างความเป็นตัวของสินค้าได้เป็นอย่างดี ด้วยเหตุนี้ชื่อตราสินค้าและตราสินค้าจึงถือเป็นสิ่งที่มูลค่าในทางธุรกิจ เช่น ชื่อโดเมนเว็บไซต์ที่สัมพันธ์กับตราสินค้า ยิ่งเป็นชื่อที่จดจำได้ง่าย หรือสอดคล้องกับความรู้จักของคนในสังคมได้มาก ยิ่งมีมูลค่าสูงตามไปด้วย ตัวอย่างเช่น Social.com เป็นชื่อโดเมนที่มูลค่าซื้อขายสูงสุดในปี ค.ศ. 2011ซึ่งมีมูลค่าสูงถึง 2.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

นอกจากชื่อสินค้าและตราสินค้าแล้ว สี ยังเป็นสิ่งที่ช่วยในการแสดงตัวตนสร้างการจดจำได้ดีเช่นเดียวกัน ลองสังเกตดู ตัวอย่างเช่นเมื่อ กลางปี 2011 AIS บริษัทที่ให้บริการด้านโทรศัพท์เคลื่อนที่รายใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ได้ทำการรีแบรนด์ เพื่อหวังให้ผู้บริโภคได้เห็นลุคใหม่ ที่เปลี่ยนรูปลักษณ์โลโก้และสี จากเดิมที่เป็น สีน้ำเงินซึ่งโทนสีค่อนข้างเหมือนกับ DTAC คู่แข่งที่เป็นสีฟ้า ซึ่งอาจจะดูไม่โดดเด่น ทำให้ไม่มีการรับรู้ที่ดีพอ รวมทั้งโทนสีดังกล่าวใช้มานานพอสมควร โดยเปลี่ยนมาเป็นสีเขียว เพื่อสร้าง Awereness ให้ลูกค้าซึบซับกับสัญลักษณ์ใหม่ สีใหม่ และความอบอุ่นในการให้บริการ อีกทั้งสียังช่วยให้เกิดการระลึกถึง ตราสินค้าได้ดีอีกด้วย กล่าวกันง่ายๆคือ ถ้ามองสีฟ้าคิดถึง DTAC สีส้มคือ TrueMoveH สีเขียวก็ต้องนึกถึง AIS เป็นต้น

สี ยังเป็นสิ่งที่บ่งบอกถึง ประวัติศาสตร์ อุดมการณ์หรือแนวทางการดำเนินงานขององค์กรได้เป็นอย่างดี อย่างเช่น สีชมพูที่เป็นสีประจำ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งที่มา มาจากสีประจำวันอังคาร ซึ่งเป็นสีวันพระราชสมภพของรัชกาลที่ 5 เป็นต้น หรือ นกแอร์ ที่มีสีประจำสายการบินคือ สีเหลือง ที่ทางนกแอร์ได้กล่าวหมายถึงความอบอุ่นและเป็นมิตรเป็นต้น

ทั้งนี้การจะสร้าง Awareness ให้ผู้บริโภคเกิดการรับรู้ ต้องนำไปใช้อย่างแพร่หลายและสม่ำเสมอ ได้แก่ การออกแบบตกแต่งสถานที่ ชุดเครื่องแบบของพนักงาน สื่อที่ใช้ในการโฆษณาประชาสัมพันธ์ ยานพาหนะ ซึ่งการใช้สีกระจายไปในทุกช่องทางการสื่อสาร จะทำให้เกิดภาพขึ้นในจิตใจของคนทั่วไปและทำให้สีนั้นถูกยึดครองไปเป็นสัญลักษณ์ประจำองค์กรนั้นไปโดยปริยาย